8 ข้อแนะนำก่อนการพูดในที่สาธารณะ ตามสไตล์ TED Talk

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเกิดอาการกังวล ตื่นเต้น หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น จากสายตาจำนวนมากที่จับจ้องมาที่เรา ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน บนเวที หรือในการนำเสนองานในบริษัท คนที่เคยมีอาการเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งใดอื่น มันคือ Glossophobia หรือโรคกลัวการพูดในที่สาธารณะ

    จากสถิติแล้ว คนจำนวนมากถึง 75% ของประชากรทั้งหมด มีความกลัวต่อการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ดังนั้นแล้ว หากใครเคยรู้สึกกังวลเมื่อจะต้องจับไมค์เพื่อพูดเรื่องอะไรบางอย่างต่อหน้าคนเยอะ ๆ แล้ว สบายใจได้ เพราะคุณไม่ได้เป็นคนเดียว คุณมีเพื่อนในสังคมจำนวนมากที่เป็นแบบเดียวกับคุณ แต่ไม่ว่าจะกลัวแค่ไหนก็ตาม หน้าที่ของเราที่จะต้องจับไมค์และลุกขึ้นพูดต่อหน้าสายตาที่จับจ้องมาที่เรานั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามคือ แล้วเราจะจัดการกับอาการเหล่านี้อย่างไรดี

    Chris Anderson ประธานของ TED Talk เคยเขียนเกี่ยวกับความกลัวต่อการพูดในที่สาธารณะไว้ในหนังสือ “TED Talks : The Official TED Guide to Public Speaking” ว่าไม่ว่าใครก็ตามก็จะต้องเจอกับความกลัวนี้ แต่เหล่านักพูดที่ได้ยืนอยู่บนเวที TED Talk ทุกคนต่างก็สามารถเอาชนะใจตนเอง และสามารถผ่านช่วงเวลาที่น่ากลัวนั้นมาได้

    บทความนี้จึงอยากจะแบ่งปันเทคนิคในการเตรียมใจก่อนที่จะก้าวขึ้นไปบนเวที ด้วยคำแนะนำ 8 ข้อจาก Chris Anderson

 

1. อย่าลืมดื่มน้ำ

    เปิดมาข้อแรกหลายคนอาจจะถึงกับต้องเกาหัว ว่าการดื่มน้ำจะช่วยในการพูดได้อย่างไร แต่ความจริงแล้ว ความกังวลสามารถนำไปสู่อาการปากแห้งได้ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพูด ทางด้าน Chris Anderson เองได้แนะนำว่าให้ดื่มน้ำถึง 3 ขวดก่อนที่จะขึ้นเวทีซัก 5 นาที จะสามารถช่วยไม่ให้ปากแห้งระหว่างพูดได้ (แต่ก็กำกับไว้ด้วยว่าอย่าดื่มไว้เร็วกว่านั้น ไม่งั้นแทนที่จะทรมานกับอาการปากแห้ง อาจจะต้องทรมานกับความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำอันรุนแรงก็ได้)

2. อย่าให้ท้องว่าง

    นอกจากการดื่มน้ำแล้ว Chris Anderson ยังแนะนำว่า ให้หาอะไรกินก่อนที่จะขึ้นพูดด้วย โดยที่เขาได้บอกว่าความหิวนั้นอาจจะทำให้เราเกิดความเครียดสูงกว่าเดิมระหว่างที่อยู่บนเวที ดังนั้นแล้วเราควรจะหาอะไรกินก่อนที่จะขึ้นพูดซัก 1 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้สอดคล้องกับการศึกษาของ University of Guelph ในปี 2018 ว่าการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูงขึ้น และนำมาสู่ความเครียดนั่นเอง

3. ใช้ความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อน

    ข้อดีข้อหนึ่งของความกลัวและความกังวลคือ ความรู้สึกเหล่านั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เราซ้อมและเตรียมตัวมากขึ้น เมื่อเราซ้อมและเตรียมตัวมาดีพอ ถึงจุดหนึ่ง ความกลัว ความกังวลเหล่านั้นก็จะลดลง การพูดของเราก็จะดีขึ้นมากกว่าเดิม

4. ใช้ร่างกายช่วย

    หากเรารู้สึกตื่นเต้นหรือกระวนกระวายเพราะอะดรีนาลีน Chris Anderson แนะนำให้เราหากิจกรรมทางร่างกายทำ เช่นการหายใจเข้าให้ลึกที่สุด ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกสงบลง หรืออาจจะใช้การออกกำลังกายช่วยก็ยังได้ 

    ในเวที TED เมื่อปี 2014 Chris Anderson เล่าว่าในตอนนั้นเขาจะต้องสัมภาษณ์ Richard Ledgett ผู้ที่เป็นถึงเป็นรองอธิบดีของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ และเขารู้สึกกังวลและตื่นเต้นมาก เขาจึงหาทางสงบสติอารมณ์ตัวเองด้วยการลงไปวิดพื้นอยู่หลังเวที ผลปรากฎว่าตัวเขาเองนั้นสามารถวิดพื้นได้มากกว่าปกติที่เขาทำได้ถึง 30% และเมื่อวิดพื้นเสร็จ อะดรีนาลีนหายไป เขาเล่าว่า ณ ขณะนั้นคือความสงบและความมั่นใจเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่อยู่ในหัว

5. พลังแห่งความอ่อนแอ

    ผู้ฟังจะเกิดความเอ็นดูต่อผู้พูดที่ดูมีความกังวลเสมอ และจะเอ็นดูขึ้นไปอีกหากว่าผู้พูดคนนั้นสามารถที่จะเอาชนะความกลัวนั้นได้ หากว่าเราเกิดอาการพูดติดอ่าง หรือพูดผิดบ้างในตอนต้น การแสดงให้เห็นว่าเรากังวลหรือประหม่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไรเลย ประโยคประมาณว่า “แม้ว่าจะซ้อมมาแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เมื่อได้มายืนอยู่หน้าทุกคนครับ” หรือ “ขอโทษที่อาจจะพูดผิดพูดถูกนะครับ ตื่นเต้นมาก ๆ ที่วันนี้ได้มาเจอหน้าทุกคน” อาจจะทำให้ผู้ฟังทุกคนให้กำลังใจเรามากขึ้นด้วยซ้ำ

6. หาเพื่อนในหมู่ผู้ฟัง

    ในช่วงเริ่มต้นของการพูด ให้เราพยายามหาผู้ฟังที่ดูตั้งใจฟังและดูจะเห็นอกเห็นใจเราที่จะต้องมียืนพูดอยู่ตรงนี้ พยายามหาผู้ฟังเหล่านี้ให้ประมาณ 3-4 จุดในการพูดแต่ละครั้ง เมื่อหาได้แล้ว ลองพูดและสบตากับบุคคลเหล่านี้ อาจจะมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นพูดกับคนที่อยู่ฝั่งซ้าย เปลี่ยนไปพูดกับคนที่อยู่ตรงกลาง และเปลี่ยนไปพูดกับคนที่อยู่ด้านขวา การพูดเช่นนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา อีกทั้งสายตาที่มองมายังสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราได้อีกด้วย และหากเรามีเพื่อนที่เป็นเพื่อนของเราจริง ๆ นั่งเป็นผู้ฟังอยู่ด้วย เราสามารถพูดกับพวกเขาได้เลย ซึ่งจะช่วยลดความประหม่าและทำให้เรารู้ด้วยว่าเราควรใช้น้ำเสียงประมาณไหนอีกด้วย

7. มีแผนสำรองเสมอ

    ไม่ว่าจะเตรียมตัวมาดีขนาดไหน แต่สิ่งไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แผนสำรองจึงเป็นสิ่งที่ควรมีทุกครั้งเพื่อทำให้การพูดนั้นสามารถดำเนินไปต่อได้ เช่น หากกลัวว่าตัวเองจะตื่นเต้นจนลืมว่าจะต้องพูดอะไร อาจจะลองหาโน๊ตอันเล็ก ๆ ไว้ในกระเป๋าเสื้อเพื่อหยิบขึ้นมาดูได้ หรือหากกลัวว่าจะเกิดปัญหาทางเทคนิค เช่น จอโปรเจคเตอร์ดับลงไปเฉย ๆ ก็อาจจะเตรียมหัวข้อพูดคุยกับทุกคนในห้องไปพลาง ๆ ระหว่างรอให้ฝ่าย IT หรือเพื่อนร่วมงานพยายามทำให้จอติดอีกครั้งก็ได้ 

8. โฟกัสกับใจความที่ตัวเองอยากจะพูดเสมอ

    ข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่ Chris Anderson ย้ำมากที่สุด ว่าสิ่งที่เราพูดให้คนอื่นฟังนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงข้อความที่เราพูดออกไปเฉย ๆ แต่มันคือไอเดีย เป็นแก่นของความคิดที่เปรียบเสมือนเป็นของขวัญที่จะมอบให้กับผู้ฟังนั่นเอง

 

    จากทั้งหมด 8 ข้อนี้ เป็นคำแนะนำจาก Chris Anderson ผู้เป็นประธานของ TED Talks เชื่อว่าถ้าหากผู้อ่านทุกคนได้ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ ก็จะทำให้ความกลัวในการพูดนั้นลดลง และทำให้การพูดของเรานั้นน่าประทับใจและเป็นที่น่าจดจำมากขึ้นด้วย

 

Source

Glossophobia or the Fear of Public Speaking (verywellmind.com)

Glossophobia (Fear of Public Speaking): Are You Glossophobic? (psycom.net)

48 Fear of Public Speaking Statistics You Should Know in 2020 - Orai Blog

Why Anxiety Causes Dry Mouth (Xerostomia) And What To Do - AnxietyCentre.com

Dry Mouth Anxiety: Causes, Home Remedies, Treatment (healthline.com)

Link between hunger and mood explained: The sudden drop in glucose we experience when we are hungry can impact our mood -- ScienceDaily

Book : TED Talks : The Official TED Guide to Public Speaking

บทความแนะนำ

ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นหัวข้อที่สำคัญในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงสูงสุด การรั่วไหลข้อมูลส

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า PDPA มาบ้างแต่คงไม่ทราบความหมายที่แท้จริงว่าคืออะไรทำไมถึงเป็นที่พูดถึงกันมากหลายในตอนนี้ และ

ในปัจจุบัน กลโกงทางการเงินออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลายและแยบยลมากขึ้น มิจฉาชีพพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อหลอกลวงผู

ในโลกของสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างบ้านที่กว้างใหญ่และซับซ้อน การเลือกวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมอาจเป็นสิ่งท้าทาย หนึ่งใน

มัลแวร์ (Malware) ที่เรารู้จักกันนั้น แท้จริงแล้วย่อมาจากคำว่า Malicious Software เป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมุ